V-Star News

06

พ.ย. 2560

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องศีล ๕

แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน
ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา

เรื่อง ศีล ๕


ความหมาย

 ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืน ไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝนถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ

ที่มา : มงคลชีวิต ฉบับ “ทางก้าวหน้า”

ศีล ๕ ประกอบด้วย

๑.   ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์


    ๒.   อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์


    ๓.   กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม


    ๔.   มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ

    ๕.   สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


ที่มา : หนังสือธรรมศึกษา ชั้นตรี


ความสำคัญในการรักษาศีล ๕ คือ ทำให้คนเป็นปกติ

อะไร คือ ปกติของคน ? 

ปกติของคนที่สำคัญมี ๕ ประการ ดังนี้คือ

            ๑. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคน  แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์    เช่น เสือ หมี สุนัข ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นทำร้ายกันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้  ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่าคนจะต้องไม่ฆ่า

            ๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น           ไม่ยักยอกคดโกง

            ๓. ปกติของสัตว์ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติผิดในกาม

            ๔. ปกติของสัตว์ไม่อาจวางใจได้สนิท พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้นเราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ

            ๕. ปกติแล้วเมื่อเทียบกันโดยสัดส่วนร่างกาย สัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดีได้เต็มที่ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมันแต่อย่างใด ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อย ๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้

            สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดีได้ ทำงานหนักทั้งเดือนได้พักสติก็ยังดี          นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ยทันทีถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้วอาจทำผู้ดื่มให้สติฟั่นเฟือนถึงกับลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี        ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมาจึงมีสภาพผิดปกติ คือมีสภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ


"เรารักษาศีล ๕ บริบูรณ์แล้ว ทำให้ไม่ต้องตกอบายภูมิอีกเลย
การที่เรารักษาศีล ๕ ย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก มีปัญญาคมกล้า”


  ที่มา : เรื่องพระปัญจสีลสมาทานิยเถระ จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน

ประโยชน์/อานิสงส์การรักษาศีล ๕

๑.    เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติ และทำให้สามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน

๒.    ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย

๓.    ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี

๔.    ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน

๕.    ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี

๖.     ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไป และเป็นทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด

  

โทษของการผิดศีล ๕

                ขาดศีลข้อ ๑  ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลที่ฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่าเอาบ้าง

                ขาดศีลข้อ ๒  ทำให้เกิดโรคประสาท เช่น โรคหวาดระแวง โรคจิต

                ขาดศีลข้อ ๓  ทำให้เกิดกามโรค เช่น โรคเอดส์ได้ง่าย

               ขาดศีลข้อ ๔  ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้า ลงท้ายแม้กระทั่ง ตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตน                                          พูดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือโกหก

                ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง ขาดสติจนถึงขั้นก่อการทะเลาะวิวาทได้ง่าย

 

ที่มา : มงคลชีวิต ฉบับ “ทางก้าวหน้า”


องค์ประกอบของศีล (หลักวินิจฉัยว่าผิดศีลหรือไม่)

         การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๑ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

                 ๑.      สัตว์มีชีวิต

                 ๒.     รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

                 ๓.      จิตคิดจะฆ่า

                 ๔.      พยายามฆ่า

                 ๕.      สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

            การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๒ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

                     ๑.      ของนั้นมีเจ้าของ

                     ๒.      รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของ

                     ๓.      จิตคิดจะลัก

                     ๔.     พยายามลัก

                     ๕.      ได้ของมาด้วยความพยายามนั้น

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๓ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      หญิงหรือชายนั้น เป็นบุคคลต้องห้าม

                     ๒.      จิตคิดจะเสพ

                     ๓.      พยายามเสพ

                     ๔.      อวัยวะเครื่องเสพจดถึงกัน

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๔ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      เรื่องไม่จริง

                     ๒.      จิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง

                     ๓.      พยายามพูดออกไป

                     ๔.      ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น

           การล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่ทำให้ศีลขาด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

                     ๑.      น้ำนั้นเป็นน้ำเมา

                     ๒.      จิตคิดจะดื่ม

                     ๓.      พยายามดื่ม

                     ๔.      ดื่มให้ล่วงลำคอลงไป

 

 

 

ที่มา : หนังสือธรรมศึกษา ชั้นตรี

ขอบคุณภาพจาก www.dmc.tv

สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ จาก www.dmc.tv











สรุปข่าว

หัวข้อ แหล่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน ตอบปัญหาศีลธรรมในพระพุทธศาสนา เรื่องศีล ๕

เอกสารแนบ

ศีล ๕ -มีภาพ.pdf

แสดงความคิดเห็น

แท็ก

ข่าวล่าสุด

โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบ...

Jan 13, 2564 4662 views

กฐินสัมฤทธิ์มาแล้วจ้า !!! อบรมเชิงปฏ...

Sep 08, 2563 4216 views

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

Jul 04, 2560 137388 views

ปัญจวัคคีย์ คือใคร?

Jul 04, 2560 98246 views

อบรม Final Course รอบผู้บริหารงานเยาวชน “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 35

Nov 04, 2559 87058 views

อานิสงส์ของการสวดมนต์

Jul 04, 2560 42895 views

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และ วันอาสาฬหบูชา เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

Jul 04, 2560 24508 views