▲ กลับด้านบน

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

4 ก.ค. 60 เปิดอ่าน 134802 โดย น.ส.นริสรา น้อยแสง
  แก้ไข





สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือ พระอมตนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า “จักร” นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า “จักรธรรม” หรือ “ธรรมจักร”

ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ คือ การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เอียงไปทางกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง ๕ และไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยคอันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้ ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นข้อปฏิบัติอันกระทำเครื่องเห็น(ดวงตา)และเครื่องรู้(ญาณ)ให้เป็นปกติ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือ รู้ดี เพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วพึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

๑.    สัมมาทิฐิ

๒.   สัมมาสังกัปปะ

๓.   สัมมาวาจา

๔.   สัมมากัมมันตะ

๕.   สัมมาอาชีวะ

๖.    สัมมาวายามะ

๗.   สัมมาสติ

๘.   สัมมาสมาธิ


มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย

๑.   ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง

๒.  ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง

๓.   ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง

๔.   ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง (อริยมรรค)

 



 

ญาณทัสสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ นั้น มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ คือ

 

อริยสัจจญาณ

ทุกขอริยสัจ

ทุกขสมุทัยอริยสัจ

ทุกขนิโรธอริยสัจ

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

สัจจญาณ

(ญาณหยั่งรู้อริยสัจตามสภาวะ)

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

ทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

เหตุแห่งทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

ความดับทุกข์

ทรงหยั่งรู้ว่านี้คือ

วิธีดับทุกข์

กิจจญาณ

(ญาณหยั่งรู้กิจที่ต้องทำในอริยสัจ)

เป็นสิ่งที่ควรรู้

เป็นสิ่งที่ควรละ

เป็นสิ่งที่ควร

ทำให้แจ้ง

เป็นสิ่งควรเจริญ

หรือปฏิบัติ

กตญาณ

(ญาณหยั่งรู้กิจที่กระทำแล้วในอริยสัจ)

ทรงกำหนดรู้แล้วซึ่ง

ทุกข์

ทรงละแล้วซึ่ง

เหตุแห่งทุกข์

ทรงทำให้แจ้งแล้วซึ่ง

ความดับทุกข์

ทรงเจริญแล้วซึ่ง

วิธีดับทุกข์


ญาณทัสนะในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ 





สรุปข่าว

หัวข้อ สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

แสดงความคิดเห็น